BLOG
: :
หน้าหลัก
: :
ประวัติสมาคม
: :
คณะกรรมการ
: :
กระดานข่าวสาร
: :
กิจกรรม
: :
สมัครสมาชิก
: :
Full Text Journal
: :
ถาม - ตอบ
: :
ติดต่อ
: :
Link

 

 

เกริ่นนำ การประชุมก่อตั้งแพทยสมาคมแห่งกรุงสยาม
สโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การรวมกิจการของแพทยสมาคมฯ กับสโมสรแพทย์
ย้ายมาอยู่บ้านใหม่ บ้านถาวรของแพทยสมาคมฯ

โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์กำธร สุวรรณกิจ

อดีตคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, อธิบดีกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข

 

     ผู้เขียนเข้าศึกษาแพทย์ปริญญารุ่นที่ 2 ในสองปีแรกได้เรียนอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีที่เรียนอยู่ที่หอวัง ปีที่ 3 ได้ข้ามฝากไปเรียนที่ศิริราช ในสมัยนั้นได้มีการปรับปรุงสถานที่ อาคาร และครูบาอาจารย์เป็นการใหญ่ โดยได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิร็อคคีเฟลเลอร์ ปีแรกที่เรียนที่ศิริราชได้เรียนวิชากายวิภาควิทยาและสรีรวิทยา (รวมทั้งชีวเคมีด้วย) ในตึกสองชั้น ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ ๆ ชั้นบนสำหรับกายวิภาควิทยา ชั้นล่างสำหรับชีวเคมีและสรีรวิทยา อาจารย์ที่สอนเป็นชาวอเมริกัน ทั้งสองคน แต่ละคนก็มีอาจารย์ไทยเป็นผู้ช่วย ปีนั้นคือ พ.ศ. 2469 สถานการณ์ต่าง ๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ทำให้ศิริราชที่เดิมเต็มไปด้วยเรือนไม้ ค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นตึกมากขึ้นทุกที การสอนที่เดิมเป็นภาษาไทยก็เปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษ แม้แต่อาจารย์คนไทยก็ยังต้องสอนเป็นภาษาอังกฤษ แต่ละภาควิชาซึ่งเดิมเป็นคนไทยเป็นหัวหน้า ก็กลายเป็นคนอเมริกันหรืออังกฤษ เหตุการณ์เช่นนี้เป็นอยู่หลายปีจนกระทั่งอาจารย์ชาวต่างประเทศกลับไปหมด เหลือแต่ศาสตราจารย์ เอ. จี. เอลลิส ซึ่งเป็นคณบดีอยู่คนเดียว

     ในระหว่างปี 2469-2470 ได้มีเสียงเล่าลือกันว่า แพทยะสมาคมแห่งกรุงสยามไม่ค่อยจะมีกิจกรรมอะไรที่เป็นประโยชน์นัก สมาชิกไม่ค่อยได้รับประโยชน์สมความคาดหมาย หนังสือจดหมายเหตุทางแพทย์ที่ส่งไปให้สมาชิกก็มีน้อย นาน ๆ จนได้รับสักเล่ม (ปีละ 3 เล่ม) การประชุมทางวิชาการนาน ๆ จึงจะมีสักครั้ง สมาชิกที่แยกย้ายกันอยู่มีโอกาสที่จะได้พบปะสนทนากันน้อย คณะกรรมการผู้ดำเนินการของสมาคมส่วนมากเป็นผู้ที่จบแพทย์มาจากอังกฤษและผู้ที่มีตำแหน่งสูงในราชการ ซึ่งแต่ละท่านก็อ้างว่าไม่ค่อยมีเวลา จึงไม่ได้เอาใจใส่ในกิจกรรมของสมาคมให้มากเท่าที่ควร การแสดงความไม่พอใจอย่างนี้ไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร คงคุกกรุ่นอยู่ในระหว่างสมาชิกในกลุ่มที่แสดงความไม่พอใจนี้ มีบุคคลที่สำคัญอยู่สองท่าน คือทางฝ่ายศิริราชได้แก่หลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์และทางฝ่ายกรมสาธารณสุขได้แก่ หลวงเชฏฐไวทยาการ ทั้งสองท่านนี้สำเร็จการศึกษาแพทย์จากศิริราช ท่านแรกสำเร็จการศึกษา พ.ศ.2460 และท่านหลังจบ พ.ศ.2458 ทั้งสองท่านได้รับปริญญาเอกทางสาธารณสุขศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอฮ์นส์ ฮอพกินส์ ด้วยแรงผลักดันของท่านทั้งสองนี้ ได้ทำให้เกิดสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น สโมสรนี้ได้จดทะเบียนตามกฎหมายเมื่อ วันที่ 15 มีนาคม 2470 มีสำนักงานครั้งแรกตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช กรรมการชุดแรกประกอบด้วย

          หลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์ (นายแพทย์เฉลิม พรมมาส) เป็นนายก

          พระบริรักษ์เวชชการ (พระยาบริรักษ์เวชชการ) เป็นอุปนายก

          หลวงเชฏฐ์ไวทยาการ (พระเชฏฐ์ไวทยาการ) เป็นเหรัญญิก

          ขุนไตรกิศยานุการ (หลวงไตรกิศยานุการ) เป็นเลขานุการ

     คุณหลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์ และท่านขุนไตรกิสยานุการ (ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นหลวงในนามเดิม) ทำงานอยู่ด้วยกันที่ตึกพยาธิวิทยา ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นตึกที่ทันสมัยที่สุดของโรงเรียนแพทย์ ตึกนี้ได้ถูกลูกระเบิดทำลายในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ตึกที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้เป็นตึกซึ่งสร้างขึ้นภายหลัง

     คุณพระบริรักษ์เวชชการ และคุณหลวงเชฏฐ์ไวทยาการ ทำงานอยู่ที่กรมสาธารณสุขกระทรวงมหาดไทย ท่านแรกเป็นผู้ช่วยอธิบดี ท่านหลังเป็นหัวหน้ากองโรคระบาด ในเวลาต่อมาทั้งสองท่านได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาและพระตามลำดับในนามเดิม

     วัตถุประสงค์ของสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอยู่ 3 ประการ คือ

  1. เพื่อบำรุงการกีฬา
  2. เพื่อให้นักเรียนเก่าและใหม่รู้จักคุ้นเคยสนิทสนมกัน
  3. เพื่ออบรมและบำรุงความรู้ และมีการสัมพันธ์กับโรงเรียน

สมาชิกของสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอยู่ 3 ประเภท คือ

  1. นักเรียนเก่าของโรงเรียนแพทย์ซึ่งอยู่ในพระนคร
  2. นักเรียนเก่าของโรงเรียนแพทย์ซึ่งอยู่หัวเมือง
  3. ผู้ที่มิใช่แพทย์ แต่มีความยินดีเข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยมีสมาชิกซึ่งเป็นนักเรียนเก่ารับรอง 1 คน

     ได้มีการประชุมใหญ่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2471 ที่ห้องประชุมของโรงพยาบาลศิริราชห้องประชุมนี้อยู่ที่ตึกบัญชาการ ซึ่งเป็นตึกที่ตั้งขวางทางเดินจากท่าโป๊ะเข้าโรงพยาบาล เดิมเป็นตึกสองชั้น สมเด็จพระพันวรรษาอัยยิกาเจ้าพระราชทานเงินสร้าง เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็เสด็จไปทรงเปิด ในตอนนั้นผู้เขียนยังเป็นนักศึกษาอยู่ และเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ยืนเรียงรายรับเสด็จ ตึกบัญชาการนี้สร้างเป็นสองชั้นและมีใต้ถุนอีกชั้นหนึ่งด้วย ส่วนยาวของตึกขนานกับลำน้ำเจ้าพระยามีทางเดินผ่ากลาง ผู้ที่ข้ามฝากมาขึ้นที่ท่าโป๊ะจะเดินทางตรงไปที่ประตูตึกแล้วเดินทะลุเข้าภายในโรงพยาบาล ทางซ้ายมือของตึกเป็นแผนกเภสัชกรรมและที่ตรวจโรคทางอายุรกรรม ส่วนทางขวามือเป็นที่ตรวจโรคทางศัลยกรรมและห้องผ่าตัดเล็กน้อย แต่ก่อนที่จะถึงห้องตรวจโรคทางซ้ายและขวามีม้ายาวสำหรับผู้ที่จะมารับการ ตรวจนั่งพักในขณะที่ยืนเฝ้ารับเสด็จ พอสมเด็จฯ ท่านทรงผ่านไป ได้ยินเสียงรับสั่งว่าคับแคบเกินไป ความข้อนี้เป็นความจริงคือพอเปิดทำงานก็มีผู้มารอรับการรักษาแน่นไปหมด ภายในไม่กี่ปีทางการก็ต้องสร้างตึกสำหรับตรวจโรคขึ้นใหม่สมจริงดังที่สมเด็จท่านทรงทักไว้

     ชั้นบนของตึกทางซ้ายมือ (หรือทางด้านใต้) เป็นที่ทำงานฝ่ายธุรการและห้องคณบดี ทางขวามือเป็นห้องสมุดและพัสดุ ตรงกลางเป็นห้องประชุม ที่ห้องประชุมนี้เองที่สโมสรแพทย์ฯยืมใช้เป็นที่ประชุมทางวิชาการ ตามปกติห้องประชุมนี้เป็นห้องบรรยายพิเศษของคณะ ซึ่งจะมีอาจารย์และนักศึกษาทุกชั้นมาร่วมฟังการบรรยาย

     สโมสรแพทย์ฯได้มีการประชุมทางวิชาการกันบ่อย ๆ จะบ่อยเท่าไรผู้เขียนจำไม่ได้ และดูเหมือนจะใช้เวลาวันเสาร์ตอนบ่าย เพราะสมัยนั้นทางราชการยังทำงานวันเสาร์ครึ่งวัน อยากจะเดาว่าการประชุมทางวิชาการนี้มีทุกเดือน หรืออย่างน้อยก็สองเดือนต่อครั้ง ผู้เขียนจำได้ว่า ในขณะที่เป็นนักศึกษาอยู่นั้น ได้รับเชิญจากสโมสรฯให้ไปบรรยายเรื่อง ความดันเลือด ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เขียนได้ทำการค้นคว้าในความควบคุมของศาสตราจารย์ แอร์เร็ตต์ ซี. ออลบริตตัน การบรรยายนี้ทำใน พ.ศ. 2472 ส่วนการค้นกว้าทำใน พ.ศ. 2471

     เมื่อสโมสรแพทย์ได้จัดให้มีการประชุมทางวิชาการแล้ว ไม่ได้ปล่อยให้เรื่องเหล่านั้นหายไปเฉย ๆ ได้จัดพิมพ์เรื่องต่าง ๆ เหล่านั้นขึ้นแจกจ่ายแก่สมาชิก เป็นราย 2 เดือนต่อฉบับ เล่ม 1 ฉบับที่ 1 ออกเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2472 ฉบับที่มีเรื่องของผู้เขียนปรากฏอยู่ใน เล่ม 1 ฉบับที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2473 หนังสือที่กล่าวนี้เรียกว่า “รายงานการประชุมสโมสรแพทย์” พิมพ์ออกแจกจ่ายทุกสองเดือนแล้วไปสะดุดหยุดลงเมื่อใดผู้เขียนไม่ทราบ การประชุมทางวิชาการนี้ไปเลิกเสียเมื่อใดก็ไม่ทราบอีกเหมือนกัน

     หนังสืออีกเล่มหนึ่งซึ่งสโมสรฯพิมพ์ออกจำหน่ายจ่ายแจกก่อนหน้านี้ได้แก่ “ข่าวแพทย์” เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2471 เป็นหนังสือที่สโมสรฯมีความมุ่งหมายที่จะเผยแพร่ความรู้ในทางโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ประชาชน จำหน่ายในราคาเล่มละ 25 สตางค์ ตีพิมพ์ออกเดือนละเล่ม ถ้ารับเป็นรายปีก็คิดปีละ 3 บาท หนังสือนี้ออกอยู่ได้จนถึง พ.ศ. 2485 จึงได้หยุดลง เพราะภัยแห่งสงคราม

     การจดทะเบียนของสโมสรแพทย์ฯตามหลักฐานของหนังสือสองเล่มไม่เหมือนกัน คือ อนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุขว่า 15 มีนาคม 2470 แต่หนังสืออนุสรณ์ของแพทยสมาคมว่า จดทะเบียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2470 เป็นเวลาห่างกันสามเดือน อาจเป็นด้วยผู้เขียนหนังสือสองเล่มนั้น ต่างก็จำได้ว่าเป็นเดือนสุดท้ายของปี คนหนึ่งคิดถึงปีเก่าอันมีเดือนมีนาคมเป็นเดือนสุดท้ายของปี ส่วนอีกคนหนึ่งนึกถึงปลายปีที่เราใช้กันเดี๋ยวนี้ คือมีเดือนธันวาคมเป็นเดือนสุดท้ายของปี หนังสืออนุสรณ์ของแพทยสมาคมฯกล่าวในตอนหนึ่งว่า “ในการประชุมใหญ่ครั้งแรกในวันที่ 1 เมษายน 2471 ณ ห้องประชุมของ ร.พ.ศิริราชพยาบาล มีสมาชิกเข้าประชุม 45 คน เก็บเงินค่าบำรุงได้ 308 บาท สำหรับเป็นต้นทุนเริ่มต้น…” เมื่อพิจารณาความข้อนี้แล้วทำให้คิดว่า สโมสรแพทย์ฯคงจดทะเบียนเมื่อ 15 มีนาคม 2470 เพราะในตอนนั้นสมาชิกต่างก็อยากจะมีสโมสรกันเหลือเกิน เมื่อจดทะเบียนได้แล้ว คงไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปตั้งสามเดือนจึงเรียกประชุม เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว จึงขอถือเอาวันที่ 15 มีนาคม 2470 เป็นวันจดทะเบียน

     เมื่อสโมสรแพทย์ฯจดทะเบียนแล้วได้ใช้โรงพยาบาลศิริราชเป็นสำนักงานชั่วคราว ดำเนินกิจการในทางวิชาการ ส่วนตัวสโมสร ซึ่งเป็นที่พบปะกันของสมาชิกยังไม่มี ในระยะนั้น กรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทยได้ก่อสร้าง สุขศาลาบางรัก เพื่อใช้เป็นที่รักษากามโรค สุขศาลานี้สร้างเป็นตึกสองชั้น ติดถนนสีลม ในเนื้อที่ของโรงพยาบาล หมอเฮส์ ซึ่งได้เลิกกิจการไปแล้ว หลังตัวสุขศาลาเข้าไปเป็นเรือนไม้หลังใหญ่ ใต้ถุนสูง เดิมใช้เป็นโรงพยาบาลของหมอเฮส์ กรมสาธารณสุขได้อนุญาตให้สโมสรแพทย์มาใช้เป็นสโมสรได้ ทั้งได้อนุญาตให้สร้างสนามเทนนิสในที่ดินที่อยู่ถัดเข้าไป สโมสรแพทย์ฯได้ลงทุนซ่อมแซมตกแต่งสถานที่ที่ได้รับอนุญาตนี้จนเป็นที่เรียบร้อย มีทั้งกีฬาในร่มและนอกร่มและมีเครื่องดื่มในราคาเยาด้วย สโมสรแพทย์จึงได้มีสโมสรจริง ๆ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2471 นอกจากแพทย์แล้ว ยังมีสมาชิกที่ไม่ใช่แพทย์ไปใช้สโมสรกันอย่างครึกครื้นอุ่นหนาฝาคั่งมาก ทั้งนี้น่าจะเนื่องจากว่าในขณะนั้นมีสโมสรไม่กี่แห่ง และที่สโมสรแพทย์นี้อยู่ใกล้กับสามแยกถนนสีลมต่อถนนเจริญกรุง การไปมาสะดวก มีทั้งรถรางและรถเมล์ มีข้าราชการจากหลายกระทรวงไปสมัครเป็นสมาชิก บางคนเป็นสมาชิกเพราะเพื่อแพทย์ชวนไป บางคนเป็นเพราะบ้านอยู่ใกล้ ๆ แถวนั้น สโมสรจึงรุ่งเรืองเฟื่องฟู

     ผู้เขียนเข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทย กรมสาธารณสุข เมื่อต้นปี (เมษายน) พ.ศ. 2474 มีชื่อเป็นแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลวชิระ แต่ตัวทำงานอยู่กองที่ปรึกษา ซึ่งมีห้องทำงานอยู่ที่ชั้นสอง ทางด้านหน้าของตึกกระทรวงมหาดไทย และอยู่ใกล้ ๆ ห้องอธิบดีและห้องผู้ช่วยอธิบดี ท่านที่ปรึกษาในเวลานั้นคือ ดร. ชไปโร ซึ่งเป็นผู้ที่มูลนิธิร็อคคีเฟลเลอร์ส่งมาช่วย ท่านที่ปรึกษาได้ให้ผู้เขียนไปดูงานและช่วยงานตามกองต่าง ๆ แล้วกลับมาเขียนรายงานให้ท่านทราบ เวลาท่านไปราชการหัวเมือง ท่านก็ให้ผู้เขียนติดตามไปด้วย แล้วท่านก็ให้ผู้เขียนไปดูตามที่ต่าง ๆ ตามที่ท่านต้องการ เมื่อกลับมาก็เขียนรายงานเสนอให้ท่านทราบ ครั้งสุดท้ายผู้เขียนไปอยู่กองโรคระบาด ขณะนั้นมีโรคบิดระบาดที่อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้เขียนก็ถูกส่งไปปราบโรคนั้น พอโรคเริ่มสงบก็ได้รับโทรเลขจากกรมให้กลับกรุงเทพฯ เมื่อมาถึง ท่านที่ปรึกษาก็สั่งให้ไปช่วยหลวงชาญวิธีเวชช์ (รุ่งขึ้นปี 2475 ท่านก็ได้เป็นพระชาญวิธีเวชช์) ที่สุขศาลาบางรัก

     ได้กล่าวไว้แล้วว่า สุขศาลาบางรักนั้นใช้เป็นที่รักษากามโรค แต่ใช้เฉพาะชั้นล่าง เท่านั้น ชั้นบนจึงยังคงว่างอยู่ ท่านที่ปรึกษามีความเห็นว่าควรจะใช้ที่ว่างนี้เป็นที่ทำการ “สุขาภิบาลตัวอย่างบางรัก” กรมสาธารณสุขมีความเห็นพ้องด้วย จึงได้เปิดทำการขึ้น มีเจ้าหน้าที่คือ หลวงชาญวิธีเวชช์เป็นหัวหน้า มีสารวัตรสุขาภิบาล 6 คน นางสงเคราะห์ (พยาบาล) สองคน เสมียนหนึ่งคนและภารโรงหนึ่งคน คุณหลวงชาญฯท่านมีงานทางกรมด้วย ทางกรมจึงได้ให้ผู้เขียนมาเป็นผู้ช่วย ต่อมาคุณหลวงชาญฯท่านเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระ และได้เป็นเหรัญญิกของสโมสรแพทย์ด้วย ท่านก็เลยให้ผู้เขียนช่วยทำงานทางการเงินของสโมสรแพทย์ด้วย ผู้เขียนจึงเข้าไปรู้เห็นกิจการของสมาคมแพทย์มากขึ้นและได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกด้วย ต่อมาเมื่อท่านพ้นตำแหน่งเหรัญญิก ผู้เขียนก็ได้รับเลือกเป็นเหรัญญิกแทนท่าน จะเป็นตั้งแต่ปีไหนและเป็นอยู่นานเท่าใดจำไม่ได้ จำได้แต่ว่าไม่ค่อยจะเป็นที่พอใจของสมาชิกบางท่านนัก เพราะถูกทวงถามค่าบำรุงที่ติดค้างอยู่ค่อนข้างบ่อย การเงินของสโมสรแพทย์ดีขึ้น มีสมาชิกใช้สโมสรมากขึ้นและหนี้สูญน้อยลง

 

 

© Copyright The Medical Association of Thailand. All rights Reserved 2002 - 2003