BLOG
: :
หน้าหลัก
: :
ประวัติสมาคม
: :
คณะกรรมการ
: :
กระดานข่าวสาร
: :
กิจกรรม
: :
สมัครสมาชิก
: :
Full Text Journal
: :
ถาม - ตอบ
: :
ติดต่อ
: :
Link

 

 

เกริ่นนำ การประชุมก่อตั้งแพทยสมาคมแห่งกรุงสยาม
สโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การรวมกิจการของแพทยสมาคมฯ กับสโมสรแพทย์
ย้ายมาอยู่บ้านใหม่ บ้านถาวรของแพทยสมาคมฯ

โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์กำธร สุวรรณกิจ

อดีตคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, อธิบดีกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข

 

     แพทยสมาคมฯได้บังเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2464 อีก 6 ปีต่อมา คือเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2470 สโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้บังเกิดตามขึ้นมา ทำให้สถาบันการแพทย์มีเป็นสอง ทางสมาคมนั้นมุ่งไปในเรื่องเกี่ยวกับวิชาการ ส่วนทางสโมสรนั้นเหมาหมด คือเอาทั้งวิชาการและการสังคม ซึ่งทำให้ได้เปรียบกว่าสมาคมด้วยเหตุนี้แพทย์ที่จบมาใหม่จึงหันเหมาสมัคร เข้าเป็นสมาชิกของสโมสรแพทย์ฯ มีจำนวนน้อยที่เข้าไปสมัครเป็นสมาชิกของแพทยสมาคมฯ ทำให้ทางสมาคมชักจะรู้สึกด้อยลงไป แต่เรื่องที่สำคัญและไม่เปิดเผยคือ ผู้ที่เป็นสมาชิกของแพทยสมาคมอยู่แต่เดิมนั้น พอมีสโมสรแพทย์เกิดขึ้น ก็มาสมัครเป็นสมาชิกสโมสรแพทย์ด้วย เพราะเห็นว่าตนสำเร็จมาจากศิริราช ผู้ที่เป็นสมาชิกทั้งสองฝ่ายนี้ต้องเสียค่าบำรุงเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของผู้ที่อยู่ฝ่ายเดียว และในสมัยนั้นการเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในฐานะลำบาก จนรัฐบาลต้องทำ “ดุลยภาพ” ข้าราชการ คือมีการปลดข้าราชการออกจากงานเป็นประจำมาก ทางฝ่ายราษฎรก็ประสบกับการหากินฝืดเคือง ผู้ที่เป็นแพทย์ก็หนีภัยเศรษฐกิจถดถอยนี้ไม่พ้นเหมือนกัน จึงได้มีผู้คิดที่จะรวมสองสถาบันนี้เข้าด้วยกัน โดยกระพือข่าวที่ไม่ดีให้แก่ทั้งสองฝ่ายที่ยังแยกกันอยู่

     อันที่จริงการรวมกันได้ก็เป็นของดี ทำให้มีความเป็นปึกแผ่นแน่นหนาและเป็นการประหยัดด้วย ดังนั้นในการประชุมใหญ่ประจำปีของแพทยสมาคมฯ และของสโมสรแพทย์ฯ จึงได้มีผู้เสนอความเห็นในเรื่องนี้ขึ้น แต่ยังไม่ได้มีการจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป ต่อมาเพื่อ พ.ศ.2476 พระยาบริรักษ์เวชชการได้รับเลือกให้เป็นสภานายกแพทยสมาคมฯและในขณะเดียวกันก็เป็นนายกสโมสรแพทย์ฯด้วย การรวมสองสถาบันจึงได้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยจัดให้มีการออกเสียงลงมติในเรื่องหลักการ ในการรวมกิจการบางอย่างของสมาคมและสโมสรเข้าด้วยกัน ผลที่ได้รับมีดังนี้

  1. ใบออกเสียงส่งไปยังสมาชิกทั้งสิ้น 547 ฉบับ
  2. ได้รับใบออกเสียงคืนมา 279 ฉบับ
  3. ผู้ที่เห็นชอบด้วย 267 ฉบับ

  4. ผู้ที่ไม่เห็นชอบด้วย 13 ฉบับ
  5. ผู้ที่ไม่แสดงความเห็น 1 ฉบับ

     เป็นอันว่า ผู้ที่เห็นชอบกับการรวมชนะอย่างเด็ดขาด การนับคะแนนเสียงนี้ทำเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2476 หลักการของการรวมนี้มีความสำคัญอยู่ที่ว่า สมาชิกที่ชำระค่าบำรุงทางแพทยสมาคมฯ แล้วไม่ต้องชำระทางสโมสรแพทย์ฯอีก และผู้ที่ชำระค่าบำรุงทางสโมสรแพทย์ฯแล้ว ไม่ต้องชำระทางสมาคมฯอีก กิจการที่จัดให้รวมกันคือ การเงิน ห้องสมุด การออกหนังสือพิมพ์แพทย์ และการเลี้ยงประจำปี ส่วนสำนักงานและสถานที่ของสมาคมและสโมสรให้อยู่แห่งเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ถ้าสามารถจัดทำได้

     จดหมายเหตุทางแพทย์ของสมาคมแห่งกรุงสยาม เล่ม 16 ตอน 6 ประจำ มีนาคม 2476 ได้ลงรายนามของสมาชิกสโมสรแพทย์ฯ ที่มิได้เป็นสมาชิกของแพทยสมาคมฯ เข้าไว้ โดยถือเอาว่าเป็น “สมาชิกเข้าใหม่” ให้เลขประจำตัวตั้งแต่เลขที่ 474 ไปจนถึง 564 รวม 91 คน ในจำนวนนี้มีแพทย์หญิง 1 คน คือ ม.ร.ว.ส่งศรี เกษมศรี และมีแพทย์ที่จบจากต่างประเทศ 3 คน คือ

เลขที่ 517 ร.อ.อ. หลวงพรหมทัตเวที (ไหมพรหม ศรีสวัสดิ์) จากมหาวิทยาลัย บริสตอล อังกฤษ
เลขที่ 529 อ.ต. หลวงลิปิธรรมศรีพยัตต์ (ลิ ศรีพยัตต์) จากยูเนียนยูนิเวอร์สิตี อาลบานี สหรัฐอเมริกา
เลขที่ 544 น.ต.เล็ก สุมิตร จากลอนดอนและอังกฤษ

     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2476 ซึ่งเป็นวันประชุมใหญ่ประจำปีแพทยสมาคมฯ และของสโมสรแพทย์ฯ จึงเป็นอันว่า แพทยสมาคมฯ และสโมสรแพทย์ฯได้รวมกิจการกันนับแต่วันนั้นเป็นต้นมาในนามใหม่ว่า “แพทยสมาคมแห่งกรุงสยามและสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” แต่ในชั้นต้นนี้ ยังคงมีคณะกรรมการบริหารแยกกันไปพลางก่อน จนกว่าจะได้ย้ายมาอยู่รวมกัน

     พ.ศ. 2479 สโมสรแพทย์ฯ ได้ย้ายจากบริเวณสุขศาลาบางรัก มาอยู่ที่เดียวกับแพทยสมาคมฯ ที่ถนนบำรุงเมือง ตั้งแต่นั้นมากรรมการบริหารที่มีอยู่ 2 ชุดก็รวมกันเป็นชุดเดียว สถานที่ที่ถนนบำรุงเมืองนี้ถือได้ว่าเป็นย่านกลางของกรุงเทพ ฯ การไปมาสะดวก มีทั้งรถรางและรถเมล์ และอยู่ใกล้กรมสาธารณสุขในส่วนที่อยู่ที่ยศเส ฉะนั้นจึงมีสมาชิกมาใช้สโสรกันมาก สโมสรมีโต๊ะบิลเลียด 2 โต๊ะ มีสนามเทนนิส 3 สนาม และตอนเย็น ๆ มี “เสียโป” ของเจ๊กขาวมาขายข้าวและเป็ดย่างทุกวัน เจ็กขาวนั้นแก่แล้ว ต้องมีลูกจ้างหาบมาให้ ฝีมือการทำเป็ดย่างของเจ็กขาวเป็นที่เลื่องลือกันมาก ผู้ที่มาเล่นเทนนิส หรือมาเล่นบิลเลียด หรือผู้ไม่เล่นแต่มาดูเขาหรือมาคุยก็มักถือโอกาสกินข้าวกับเป็ดย่าง และอยู่จนถึงค่ำ สมัยนั้นถือได้ว่าสโมสรรุ่งเรืองมาก จนกระทั่งข้าราชการที่ไม่ใช่แพทย์มาสมัครเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น เพราะสะดวกในการพบปะ ในการหย่อนใจ ในการไปมาและอื่น ๆ

     พ.ศ. 2477 ในขณะที่สโมสรแพทย์ฯยังไม่ได้ย้ายมารวมกับแพทยสมาคมฯ ที่ถนนบำรุงเมือง และคุณหลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์ดำรงตำแหน่งนายกของทั้งสองฝ่าย ได้มีการประชุมครั้งสำคัญขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน และได้มีมติให้ตั้งกองการปราบวัณโรคของแพทยสมาคมขึ้น เพื่อทำการปราบวัณโรคในประเทศไทยร่วมมือกับองค์การอื่น ๆ และประชาชนทั่วไป กองการนี้ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2478 ต่อมาในวันที่ 27 เดือนเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสมาคมกองการปราบวัณโรคไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมกองการปราบวัณโรคได้ขอความร่วมมือสภากาชาดสยามขอใช้สถานีอนามัยที่ 1 ถนนบำรุงเมืองเป็นสถานตรวจรักษาวัณโรค ซึ่งสภากาชาดสยามก็ได้ให้ความร่วมมือด้วยดี จึงได้เปิดทำการรักษาเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2478

     ในการดำเนินงาน สมาคมกองการปราบวัณโรคได้รับความอุดหนุนในเรื่องเวชภัณฑ์ และเครื่องมือเครื่องใช้จากสภากาชาดสยามคิดเป็นเงินปีละประมาณ 3,000 บาท นอกจากนั้นสภากาชาดสยามยังได้ให้พยาบาลมาช่วยปฏิบัติงานในสถานตรวจรักษาวัณโรคด้วย ในส่วนการตรวจรักษาผู้ป่วยนั้น แพทย์ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมได้ผลัดเปลี่ยนกันมาทำให้เป็นประจำ

     งานได้ดำเนินไปโดยเรียบร้อย แต่สมาคมกองการปราบวัณโรคก็มิได้พอใจแต่เพียงเท่านั้น ยังอยากมีสถานที่เป็นของตนเอง ได้พยายามติดต่อกับนายโอวบุ้นโฮ้ว เศรษฐีใจบุญที่สิงคโปร์-ในที่สุดได้เงินมาสามหมื่นบาท ได้ใช้เงินจำนวนนี้สร้างสถานที่ของตนเองขึ้นในที่ดินราชพัสดุ ติดถนนพหลโยธิน ตำบลสามเสนใน เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้ย้ายสำนักงานมาอยู่ที่แห่งใหม่นี้เมื่อ พ.ศ. 2482 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

     ต่อมาจะเป็นปีใดผู้เขียนจำไม่ได้ ทางกรมตำรวจต้องการสถานที่แห่งนี้เป็นกองบังคับการของตำรวจตระเวนชายแดน เพราะเห็นว่ามีเนื้อที่กว้างขวางกว่าที่กรมตำรวจมีอยู่ จึงได้ขอแลกโดยสร้างสถานที่ให้สมาคมปราบวัณโรคฯใหม่ ซึ่งอยู่ติดถนนพหลโยธินเหมือนกัน แต่อยู่เหนือขึ้นไปอีกเล็กน้อย สมาคมจึงได้ย้ายมาอยู่ที่ใหม่นี้และดำเนินการต่อมาจนถึงปัจจุบัน ทางแพทยสมาคมฯและสภากาชาดไทย เมื่อเห็นว่าสมาคมปราบวัณโรคมีสถานที่ของตนเองแล้ว และสามารถดำเนินการต่อไปด้วยตนเองได้ดี จึงได้ปล่อยมือให้สมาคมปราบวัณโรคดำเนินการไปตามลำพัง

     ส่วนแพทยสมาคมฯและสโมสรแพทย์ฯ ก็ได้ดำเนินกิจการมาด้วยดี จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ลุกลามมาถึงประเทศไทยวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นได้บุกเข้ายึดสถานที่หลายแห่ง รัฐบาลไทยเห็นว่าถ้าขืนสู้ต่อไปเราก็คงพินาศ จึงได้ยอมทำสัญญากับญี่ปุ่นเพื่อรักษาประเทศและประชาชนไว้ ในสายตาโลกประเทศไทยจึงกลายเป็นฝ่ายอักษะไปด้วยเหตุนี้ ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพ ฯ ผู้คนในพระนครเป็นจำนวนมากได้พากันอพยพไปอยู่นอกเมือง พวกข้าราชการและนักธุรกิจมักไปหาที่อาศัยตามเขตอำเภอชั้นนอกหรือจังหวัดใกล้เคียง เช้าเดินทางเข้ามาทำงาน เย็นเลิกงานก็กลับออกไป แพทยสมาคมฯและสโมสรแพทย์ฯยังดำเนินงานต่อไป และได้ทำที่หลบภัยไว้ใกล้ ๆ ผู้เขียนจำได้ว่า บ่ายวันเสาร์วันหนึ่ง (ขณะนั้นทำงานวันเสาร์เช้าครึ่งวัน) ผู้เขียนมาที่สโมสร เห็นมีสมาชิกมาเล่นบิลเลียดและเล่นเทนนิสหลายคน ไม่นานนักก็มีเครื่องบินมาทิ้งลูกระเบิด (มีเสียงหวอเตือนภัยก่อน) สมาชิกต่างก็หยุดเล่น แล้วไปยืนออกันที่ปากหลุมหลบภัย คอยดูว่าเครื่องบินมาทางไหน ทิ้งลูกระเบิดตรงไหน ถ้าเห็นว่ายังห่างไกลจากสโมสร ก็ยืนดูอยู่ ถ้าใกล้เข้ามาก็ลงหลุมหลบภัย วันนั้นการทิ้งระเบิดอยู่ทางโรงไฟฟ้าวัดเลียบ เห็นลูกระเบิดหล่นลงมาชัดเจน ลงมาคราวละหลายลูกคล้ายเป็นพวง เป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่ทุกคนก็อยากดู เพราะเกิดมาไม่เคยเห็น การทิ้งระเบิดเช่นนี้มีอยู่บ่อย ๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน จุดที่เครื่องบินชอบมาทิ้งระเบิดคือ โรงไฟฟ้าวัดเลียบ โรงไฟฟ้าสามเสน โรงไฟฟ้ารถไฟมักกะสัน ย่านสถานีรถไฟบางกอกน้อย ฯลฯ เท่าที่จำได้ ตึกพยาธิวิทยา และสุขศาลาบางแห่งพังทะลาย

     นอกจากภัยของสงครามแล้ว ในปี 2485 ยังมีน้ำท่วมอีกด้วย น้ำท่วมครั้งนี้เป็นน้ำท่วมที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา และท่วมอยู่นานประมาณหนึ่งเดือน ถนนส่วนมากกลายเป็นคลองไป บางแห่งน้ำลึกมากจนรถยนต์แล่นไปไม่ได้ ถนนบางแห่งที่น้ำท่วมไม่มากนัก เช่นที่ถนนราชดำเนินใน หน้ากระทรวงยุติธรรม ตอนนั้นเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก มีรถยนต์ลุยไปได้ และในขณะเดียวกันเรือพายและเรือจ้างก็มาลอยลำสวนกันไปมา แต่ไม่ปรากฏว่ารถยนต์และเรือชนกัน ทั้งนี้ก็เพราะรถยนต์ลุยน้ำแล่นได้ช้ามาก ในตอนนั้นผู้เขียนอาศัยอยู่ที่บางกระบือหน้ากรมชลประทาน ได้ซื้อเรือเล็กลำหนึ่งพายมาทำงานที่กรมวิทยาศาสตร์ ซึ่งอยู่หลังกระทรวงพาณิชย์เดี๋ยวนี้ ที่นั่นเป็นที่สูง น้ำไม่ท่วม จึงได้เอารถยนต์จอดไว้ที่กรมใช้เรือพายไปมา บางวันต้องไปดูแลงานทางโรงงานเภสัชกรรม ก็พายเรือไปและพายเรือกลับ ในเวลานั้นไม่รู้สึกว่ามีความยากลำบากอย่างไร ดูเหมือนจะสนุนกสนานไปกับการพายเรือ ใคร ๆ ก็ใช้เรือกันทั้งนั้น น้ำมันเบ็นซินหายาก เพราะมีการปันส่วนกัน พอน้ำแห้งแล้ว รถยนต์ก็ออกวิ่งกัน แต่มีไม่มาก เหตุด้วยน้ำมันหายากดังกล่าวแล้ว ผู้เขียนเคยใช้แอลกอฮอล์แทนเบ็นซิน รถไม่มีกำลังเหมือนเบ็นซิน ใช้ไปได้ไม่นานเกจ์เครื่องวัดน้ำมันก็เสีย เข้าใจว่าเป็นเพราะเป็นสนิมที่เครื่องวัดตอนที่อยู่ในถัง น้ำมันแอลกอฮอลที่ใช้นั้นซื้อจากสำนักงานกลางของโรงงานน้ำตาล แอลกอฮอลอาจมีน้ำปนอยู่มากเกินส่วน (ขอเตือนท่านที่จะใช้แอลกอฮอลเติมรถยนต์ต่อไปในภายหน้า)

     น้ำท่วมคราวนั้นเสียหายมาก ถ้าเป็นเรือนสองชั้น ชั้นล่างน้ำจะท่วม อาศัยได้แต่ชั้นบนเท่านั้น ทางรถไฟที่เราเห็นกันว่าเขายกไว้สูงมาก มีหลายตอนที่เราพายเรือ (หรือเรือจ้าง) ข้ามไปได้ พอพ้นทางรถไฟข้ามทางถนนสุขุมวิท น้ำท่วมแลดูเป็นทะเลไปเลย รถโดยสารในระหว่างขาดแคลนน้ำมัน แก้ปัญหาด้วยการใช้ถ่านเป็นพลังงาน ก็ใช้กันได้ แต่รถไม่ค่อยมีแรง อีกอย่างหนึ่งถ้ามีการรั่วของแก๊สที่ออกมาจากเตาถ่าน ก็เคยมีผู้โดยสารตายกันหลายคน บางคนเอายางพารามากลั่น ได้น้ำมันเอาไปใช้แทนเบ็นซิน ว่ากันว่า ใช้ไปได้ไม่นานลูกสูบก็ติด เพราะมียางเหนียวมาเกาะ ทำให้เคลื่อนไหวไม่ได้

     ในระหว่างสงคราม หลังน้ำท่วมแล้วมีผู้มาใช้สโมสรน้อยลง ทั้งนี้อธิบายไว้ว่าเป็นเพราะการไปมาไม่สะดวก แต่พอสงครามเลิกแล้ว มีน้ำมันเข้ามาขายได้ สโมสรก็คึกคักขึ้นอีก แต่ที่ของเราจำกัด ก็มีเสียงบ่นกันในระหว่าง พ.ศ. 2483-2485 ผู้เขียนเป็นเหรัญญิกของแพทยสมาคมฯ และท่านพลเรือตรี สงวน รุจิราภา เป็นนายก ท่านปรารภถึงการที่จะหาสถานที่ใหม่ให้กว้างใหญ่และโอ่โถงกว่าเดิม ท่านนายกเป็นผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองคนหนึ่ง จึงมีเสียงพอที่จะพูดกับใคร ๆ ได้ แม้กระนั้นก็ยังกินเวลาหลายปี จนกระทั่งล่วงมาถึงสมัย นายแพทย์เฉลิม พรมมาสเป็นนายก การจึงได้สำเร็จ โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ยอมให้เช่า “บ้านศาลาแดง” ซึ่งเดิมเป็นที่อยู่ของท่านเจ้าพระยายมราช บ้านศาลาแดงอยู่ตรงกันข้ามกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตรงสี่แยกถนนพระรามสี่ตัดกับรอยต่อของถนนราชดำริและถนนสีลม หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า อยู่ตรงที่โรงแรมดุสิตธานีตั้งอยู่เดี๋ยวนี้

 

© Copyright The Medical Association of Thailand. All rights Reserved 2002 - 2003