แพทยะสมาคมแห่งกรุงสยาม ได้มีกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2464 โดยการจดทะเบียนเป็นสมาคมมีสำนักงานชั่วคราวอยู่ที่ตึกอำนวยการของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
แต่ก่อนที่จะมีสมาคมนี้ขึ้น ได้มีการประชุมของแพทย์ชั้นผู้ใหญ่ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2464 เป็นครั้งแรก ผู้ที่เข้าประชุมประกอบด้วย
- นาวาเอก หม่อมเจ้า ถาวรมงคลวงษ์ ไชยันต์ นายแพทย์ใหญ่ทหารเรือ ถ้าข้าพเจ้าจำไม่ผิด ท่านทรงสำเร็จการแพทย์มาจากอังกฤษ ทรงเป็นแพทย์ไทยคนแรกจากต่างประเทศ ในบั้นปลายของการรับราชการ ท่านได้รับเลื่อนยศเป็น พลเรือตรี
- พันเอก พระยาวิบุลอายุรเวท นายแพทย์ใหญ่ทหารบก ท่านผู้นี้มีนามเดิมว่า เสข ธรรมสโรช สำเร็จการศึกษาแพทย์จาก ศิริราช รุ่นที่ 8 พ.ศ. 2443 ภายหลังท่านได้เลื่อนยศเป็นพลตรี
-
พันเอก พระศักดาพลรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ต่อมาท่านได้เลื่อนยศเป็น พลตรี และเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาดำรงแพทยาคุณ ท่านมีนามเดิมว่า ชื่น พุทธิแพทย์ และสำเร็จการแพทย์จากอังกฤษ
- อำมาตย์โท หลวงอายุรแพทย์พิเศษ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ท่านมีนามเดิมว่า สาย คชเสนี ท่านสำเร็จการศึกษาแพทย์จากอังกฤษ ต่อมาท่านได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระศัลยเวทย์วิศิษฎ์ แล้วโอนไปอยู่กรมแพทย์ทหารบกและได้รับยศเป็นพลตรี
-
อำมาตย์ศรี หลวงอัพภันตราพาธพิศาล แพทย์โรงพยาบาลศิริราช ท่านมีนามเดิมว่า กำจร พลางกูร ท่านสำเร็จการแพทย์จากอังกฤษ ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระอัพภันตรพาธพิศาล และในตอนท้ายได้เป็น อธิการบดี ในเวลาที่เขียนนี้ ท่านยังมีชีวิตอยู่
- อำมาตย์ตรี หลวงไวทเยศรางกูร แพทย์โรงพยาบาลศิริราช ท่านมีนามเดิมว่า เชื้อ อิศรางกูร ณ อยุธยา ท่านสำเร็จการแพทย์มาจากอังกฤษ ท่านรับราชการได้ไม่นานก็ลาออกมาประกอบอาชีพแพทย์ส่วนตัว ในเวลาที่เขียนนี้ท่านยังมีชีวิตอยู่
- นายแพทย์ เอ็ม. อี บาร์นส์ ผู้อำนวยการกองสุขาภิบาลสภากาชาด ต่อมาได้มีการประชุมกันอีก 2 ครั้ง คือในวันที่ 27 กันยายน และ 2 ตุลาคม ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีผู้มาร่วมด้วยคือ
- อำมาตย์เอก พระยาเวชสิทธิ์พิลาศ (จรัส วิภาตะแพทย์) คณบดีคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านผู้นี้สำเร็จการศึกษาแพทย์จากศิริราช รุ่นที่ 13 พ.ศ. 2449
-
พันตรี หม่อมเจ้า วัลลภากร วรวรรณ ผู้อำนวยการกองอนามัยสภากาชาด ได้ทราบว่า ทรงสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์จากรัสเซีย ต่อมา ท่านได้รับพระราชทานยศเป็นพันเอก ที่น่าสนใจก็คือ ท่านทรงเป็นนักเรียนเก่าของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดด้วย ทรงเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ไปเรียนสาธารณสุขศาสตร์ที่ฮาร์วาร์ด
- นายแพทย์ เลโอโปลด์ โรแบร์ต ผู้อำนวยการกองวิทยาศาสตร์สภากาชาด
เมื่อประชุมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้ไปจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสมาคม เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2464 ทั้งนี้นับว่าทำกันได้รวดเร็วมาก กล่าวคือ เริ่มประชุมเมื่อวันที่ 13 กันยายน ไปจนถึงจดทะเบียนเสร็จเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม รวมเวลาเพียง 42 วันเท่านั้น
ในส่วนที่เกี่ยวกับชื่อของสมาคม คณะผู้ดำเนินการได้กราบทูลขอจาก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต องค์อุปนายก ผู้อำนวยการสภากาชาดสยามในครั้งนั้น และได้ประทานมาว่า แพทยะสมาคมแห่งกรุงสยาม ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ตามการเปลี่ยนแปลงทางอักขรวิธี และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ต่อมาใน พ.ศ. 2473 พระอัพภันตราพาธพิศาล ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งสภานายก ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ขอให้ทรงรับแพทยสมาคมไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระองค์ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับไว้ แพทยสมาคมฯจึงได้ใช้ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อท้ายตั้งแต่นั้นมา
ในระยะแรก แพทยสมาคมฯ ได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นสำนักงานชั่วคราวและได้เปิดประชุมประจำปีครั้งแรกขึ้น ณ ที่โรงพยาบาลแห่งนี้ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2464 มีสมาชิกมาร่วมประชุม 64 ท่าน จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต อุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาด กับมหาอำมาตย์โทพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นชัยนาทนเรนทร อธิบดีกรมสาธารณสุขได้เสด็จมาเป็นเกียรติ
เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2464 แพทยสมาคมมีสมาชิกรวม 186 คน ในสมัยนั้นปลายปีคือเดือนมีนาคม ยังไม่มีสมาชิกเป็นสตรี
พ.ศ. 2466 แพทยสมาคมได้เริ่มใช้ตราของสมาคม อันเป็นฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า กรมพระนริศรานุวัติวงศ์ ในตรานี้มีรูปนาคตรีศูลคืองูกับตรีศูล แบบนี้ทำเทียบกับของฝรั่งซึ่งนิยมใช้เครื่องหมายเป็นรูปงูพันไม้ นาคตรีศูลนี้อยู่ในวงกลม ภายในขอบของวงกลมมีอักษรว่า แพทยะสมาคม แห่งกรุงสยาม ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น แพทยสมาคม แห่งกรุงสยาม และเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งเป็น แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย (ตรีศูล คือ หลาวสามง่าม เป็นศัสตราประจำหัตถ์พระอิศวร)
แพทยสมาคมฯ ได้ใช้สำนักงานชั่วคราวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จนกระทั่ง พ.ศ.2475 สภากาชาดไทยได้ย้ายกองอนามัยของสภาฯ ที่ถนนบำรุงเมืองตอนใกล้สะพานกษัตริย์ศึก ไปยังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และได้มอบสถานที่ให้แพทยสมาคมฯ ใช้เป็นสำนักงาน ทั้งนี้ด้วยการติดต่อของ ม.จ.วัลลภากร ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการของแพทยสมาคมฯ และผู้อำนวยการกองอนามัยด้วย การขนย้ายได้ทำเสร็จเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2475
การที่หม่อนเจ้าวัลลภากรได้ทรงกระทำไปจนแพทยสมาคมฯ ได้มีหลักแหล่งเป็นของตนเองเช่นนี้ นับว่าเป็นพระคุณอย่างสูงแก่สมาคม สถานที่ใหม่นี้ถือได้ว่าเป็นย่านกลางของกรุงเทพฯ การไปมาสะดวก มีทั้งรถรางและรถเมล์ขาวของนายเลิศผ่าน ทำให้สมาชิกมาติดต่อกับสมาคมมากขึ้น สถานที่ใหม่นี้มีตึกเล็ก ๆ อยู่หลังเดียว แต่ก็พออาศัยเป็นที่ทำงานและประชุมกรรมการได้ ตึกนี้สภากาชาดไม่ได้ยกให้เลย ให้สมาคมอาศัยอยู่และเก็บค่าเช่าในราคาที่ถูกมาก ผู้เขียนจำไม่ได้ว่าเสียค่าเช่าปีละเท่าใด ในเวลานี้สถานที่นี้ได้ตกเป็นสมบัติของกรมอนามัย และตึกเก่าก็ได้ถูกดัดแปลงไปจนจำไม่ได้ กรมอนามัยได้ให้ กองวัณโรค ครอบครองอยู่
ณ ที่สถานแห่งใหม่นี้ ต่อมาได้เป็นที่รวมของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวต่อไป
เรื่องที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของสมาคมต่าง ๆ ก็คือการออกวารสารเพื่อใช้เป็นสื่อกับสมาชิกและเป็นการเผยแพร่ความรู้ เมื่อตั้งแพทยสมาคมฯขึ้นในปี 2464 นั้น สมาคมยังไม่มีวารสารของตนเอง แต่ได้ซื้อหนังสือจดหมายเหตุทางแพทย์สภากาชาดมาแจกให้สมาชิก ต่อมาใน พ.ศ. 2468 แพทยสมาคมฯจึงได้รับโอนกรรมสิทธิ์จากสภากาชาดมาจัดทำเอง และตั้งชื่อเสียใหม่ว่า จดหมายเหตุทางแพทย์ของแพทยะสมาคมแห่งกรุงสยาม
เริ่มเดิมของจดหมายเหตุทางแพทย์มีอยู่ว่า นายแพทย์ เลโอโปลด์ โรแบร์ต ผู้อำนวยการกองวิทยาศาสตร์สภากาชาดได้หารือกับหลวงศักดาพลรักษ์ (พระยาดำรงแพทยาคุณ) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ถึงเรื่องที่ควรจะจัดให้มีการออกวารสารการแพทย์ขึ้นในกรุงสยาม หลวงศักดาพลรักษ์เห็นดีด้วย จึงได้นำความขึ้นกราบทูลสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ อุปนายก ผู้อำนวยการสภากาชาดในขณะนั้น พระองค์ทรงเห็นชอบและทราบรับพระธุระให้สภากาชาดจัดการออกหนังสือนี้ เพื่อส่งเสริมความรู้ในวิชาแพทย์ และเพื่อแจ้งข่าวคราวอันเกี่ยวกับกิจการของสภากาชาดให้แพร่หลาย จดหมายเหตุทางแพทย์ของสภากาชาดสยามจึงเป็นวารสารการแพทย์ของไทยเล่มแรก ที่ได้จัดออกใน พ.ศ. 2461 เป็นรายไตรมาศ ค่าบำรุงปีละ 5 บาท ขายปลีกเล่มละ 2 บาท หนังสือเล่มแรกเป็นฉบับประจำวันที่ 1 เมษายน 2461 (ต้นปี)
ต่อมาสภากาชาดได้ออกหนังสือรายเดือนอีกฉบับหนึ่งเรียกว่า หนังสือพิมพ์สนองโอฐสภากาชาด สำหรับลงข่าวที่เกี่ยวข้องแก่กิจการของสภากาชาดโดยเฉพาะ สภากาชาดจึงได้โอนจดหมายเหตุทางการแพทย์มาให้แพทยสมาคมฯ ความตอนหนึ่งใน แจ้งความกระทรวงมุรธาธร เรื่องโอนกรรมสิทธิ์หนังสือ มีว่า
บัดนี้สภากาชาดสยาม ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในหนังสือเรื่องที่กล่าวมา ได้โอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2468 ให้แก่แพทยสมาคมแห่งกรุงสยามเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อไป
แจ้งความมา ณ วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2468
|