BLOG
: :
หน้าหลัก
: :
ประวัติสมาคม
: :
คณะกรรมการ
: :
กระดานข่าวสาร
: :
กิจกรรม
: :
สมัครสมาชิก
: :
Full Text Journal
: :
ถาม - ตอบ
: :
ติดต่อ
: :
Link

 

 

เกริ่นนำ การประชุมก่อตั้งแพทยสมาคมแห่งกรุงสยาม
สโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การรวมกิจการของแพทยสมาคมฯ กับสโมสรแพทย์
ย้ายมาอยู่บ้านใหม่ บ้านถาวรของแพทยสมาคมฯ

โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์กำธร สุวรรณกิจ

อดีตคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, อธิบดีกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข

 

     ผู้เขียนเข้าศึกษาแพทย์ปริญญารุ่นที่ 2 ในสองปีแรกได้เรียนอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีที่เรียนอยู่ที่หอวัง ปีที่ 3 ได้ข้ามฝากไปเรียนที่ศิริราช ในสมัยนั้นได้มีการปรับปรุงสถานที่ อาคาร และครูบาอาจารย์เป็นการใหญ่ โดยได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิร็อคคีเฟลเลอร์ ปีแรกที่เรียนที่ศิริราชได้เรียนวิชากายวิภาควิทยาและสรีรวิทยา (รวมทั้งชีวเคมีด้วย) ในตึกสองชั้น ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ ๆ ชั้นบนสำหรับกายวิภาควิทยา ชั้นล่างสำหรับชีวเคมีและสรีรวิทยา อาจารย์ที่สอนเป็นชาวอเมริกัน ทั้งสองคน แต่ละคนก็มีอาจารย์ไทยเป็นผู้ช่วย ปีนั้นคือ พ.ศ. 2469 สถานการณ์ต่าง ๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ทำให้ศิริราชที่เดิมเต็มไปด้วยเรือนไม้ ค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นตึกมากขึ้นทุกที การสอนที่เดิมเป็นภาษาไทยก็เปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษ แม้แต่อาจารย์คนไทยก็ยังต้องสอนเป็นภาษาอังกฤษ แต่ละภาควิชาซึ่งเดิมเป็นคนไทยเป็นหัวหน้า ก็กลายเป็นคนอเมริกันหรืออังกฤษ เหตุการณ์เช่นนี้เป็นอยู่หลายปีจนกระทั่งอาจารย์ชาวต่างประเทศกลับไปหมด เหลือแต่ศาสตราจารย์ เอ. จี. เอลลิส ซึ่งเป็นคณบดีอยู่คนเดียว

     ในระหว่างปี 2469-2470 ได้มีเสียงเล่าลือกันว่า แพทยะสมาคมแห่งกรุงสยามไม่ค่อยจะมีกิจกรรมอะไรที่เป็นประโยชน์นัก สมาชิกไม่ค่อยได้รับประโยชน์สมความคาดหมาย หนังสือจดหมายเหตุทางแพทย์ที่ส่งไปให้สมาชิกก็มีน้อย นาน ๆ จนได้รับสักเล่ม (ปีละ 3 เล่ม) การประชุมทางวิชาการนาน ๆ จึงจะมีสักครั้ง สมาชิกที่แยกย้ายกันอยู่มีโอกาสที่จะได้พบปะสนทนากันน้อย คณะกรรมการผู้ดำเนินการของสมาคมส่วนมากเป็นผู้ที่จบแพทย์มาจากอังกฤษและผู้ที่มีตำแหน่งสูงในราชการ ซึ่งแต่ละท่านก็อ้างว่าไม่ค่อยมีเวลา จึงไม่ได้เอาใจใส่ในกิจกรรมของสมาคมให้มากเท่าที่ควร การแสดงความไม่พอใจอย่างนี้ไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร คงคุกกรุ่นอยู่ในระหว่างสมาชิกในกลุ่มที่แสดงความไม่พอใจนี้ มีบุคคลที่สำคัญอยู่สองท่าน คือทางฝ่ายศิริราชได้แก่หลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์และทางฝ่ายกรมสาธารณสุขได้แก่ หลวงเชฏฐไวทยาการ ทั้งสองท่านนี้สำเร็จการศึกษาแพทย์จากศิริราช ท่านแรกสำเร็จการศึกษา พ.ศ.2460 และท่านหลังจบ พ.ศ.2458 ทั้งสองท่านได้รับปริญญาเอกทางสาธารณสุขศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอฮ์นส์ ฮอพกินส์ ด้วยแรงผลักดันของท่านทั้งสองนี้ ได้ทำให้เกิดสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น สโมสรนี้ได้จดทะเบียนตามกฎหมายเมื่อ วันที่ 15 มีนาคม 2470 มีสำนักงานครั้งแรกตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช กรรมการชุดแรกประกอบด้วย

          หลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์ (นายแพทย์เฉลิม พรมมาส) เป็นนายก

          พระบริรักษ์เวชชการ (พระยาบริรักษ์เวชชการ) เป็นอุปนายก

          หลวงเชฏฐ์ไวทยาการ (พระเชฏฐ์ไวทยาการ) เป็นเหรัญญิก

          ขุนไตรกิศยานุการ (หลวงไตรกิศยานุการ) เป็นเลขานุการ

     คุณหลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์ และท่านขุนไตรกิสยานุการ (ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นหลวงในนามเดิม) ทำงานอยู่ด้วยกันที่ตึกพยาธิวิทยา ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นตึกที่ทันสมัยที่สุดของโรงเรียนแพทย์ ตึกนี้ได้ถูกลูกระเบิดทำลายในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ตึกที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้เป็นตึกซึ่งสร้างขึ้นภายหลัง

     คุณพระบริรักษ์เวชชการ และคุณหลวงเชฏฐ์ไวทยาการ ทำงานอยู่ที่กรมสาธารณสุขกระทรวงมหาดไทย ท่านแรกเป็นผู้ช่วยอธิบดี ท่านหลังเป็นหัวหน้ากองโรคระบาด ในเวลาต่อมาทั้งสองท่านได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาและพระตามลำดับในนามเดิม

     วัตถุประสงค์ของสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอยู่ 3 ประการ คือ

  1. เพื่อบำรุงการกีฬา
  2. เพื่อให้นักเรียนเก่าและใหม่รู้จักคุ้นเคยสนิทสนมกัน
  3. เพื่ออบรมและบำรุงความรู้ และมีการสัมพันธ์กับโรงเรียน

สมาชิกของสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอยู่ 3 ประเภท คือ

  1. นักเรียนเก่าของโรงเรียนแพทย์ซึ่งอยู่ในพระนคร
  2. นักเรียนเก่าของโรงเรียนแพทย์ซึ่งอยู่หัวเมือง
  3. ผู้ที่มิใช่แพทย์ แต่มีความยินดีเข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยมีสมาชิกซึ่งเป็นนักเรียนเก่ารับรอง 1 คน

     ได้มีการประชุมใหญ่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2471 ที่ห้องประชุมของโรงพยาบาลศิริราชห้องประชุมนี้อยู่ที่ตึกบัญชาการ ซึ่งเป็นตึกที่ตั้งขวางทางเดินจากท่าโป๊ะเข้าโรงพยาบาล เดิมเป็นตึกสองชั้น สมเด็จพระพันวรรษาอัยยิกาเจ้าพระราชทานเงินสร้าง เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็เสด็จไปทรงเปิด ในตอนนั้นผู้เขียนยังเป็นนักศึกษาอยู่ และเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ยืนเรียงรายรับเสด็จ ตึกบัญชาการนี้สร้างเป็นสองชั้นและมีใต้ถุนอีกชั้นหนึ่งด้วย ส่วนยาวของตึกขนานกับลำน้ำเจ้าพระยามีทางเดินผ่ากลาง ผู้ที่ข้ามฝากมาขึ้นที่ท่าโป๊ะจะเดินทางตรงไปที่ประตูตึกแล้วเดินทะลุเข้าภายในโรงพยาบาล ทางซ้ายมือของตึกเป็นแผนกเภสัชกรรมและที่ตรวจโรคทางอายุรกรรม ส่วนทางขวามือเป็นที่ตรวจโรคทางศัลยกรรมและห้องผ่าตัดเล็กน้อย แต่ก่อนที่จะถึงห้องตรวจโรคทางซ้ายและขวามีม้ายาวสำหรับผู้ที่จะมารับการ ตรวจนั่งพักในขณะที่ยืนเฝ้ารับเสด็จ พอสมเด็จฯ ท่านทรงผ่านไป ได้ยินเสียงรับสั่งว่าคับแคบเกินไป ความข้อนี้เป็นความจริงคือพอเปิดทำงานก็มีผู้มารอรับการรักษาแน่นไปหมด ภายในไม่กี่ปีทางการก็ต้องสร้างตึกสำหรับตรวจโรคขึ้นใหม่สมจริงดังที่สมเด็จท่านทรงทักไว้

     ชั้นบนของตึกทางซ้ายมือ (หรือทางด้านใต้) เป็นที่ทำงานฝ่ายธุรการและห้องคณบดี ทางขวามือเป็นห้องสมุดและพัสดุ ตรงกลางเป็นห้องประชุม ที่ห้องประชุมนี้เองที่สโมสรแพทย์ฯยืมใช้เป็นที่ประชุมทางวิชาการ ตามปกติห้องประชุมนี้เป็นห้องบรรยายพิเศษของคณะ ซึ่งจะมีอาจารย์และนักศึกษาทุกชั้นมาร่วมฟังการบรรยาย

     สโมสรแพทย์ฯได้มีการประชุมทางวิชาการกันบ่อย ๆ จะบ่อยเท่าไรผู้เขียนจำไม่ได้ และดูเหมือนจะใช้เวลาวันเสาร์ตอนบ่าย เพราะสมัยนั้นทางราชการยังทำงานวันเสาร์ครึ่งวัน อยากจะเดาว่าการประชุมทางวิชาการนี้มีทุกเดือน หรืออย่างน้อยก็สองเดือนต่อครั้ง ผู้เขียนจำได้ว่า ในขณะที่เป็นนักศึกษาอยู่นั้น ได้รับเชิญจากสโมสรฯให้ไปบรรยายเรื่อง ความดันเลือด ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เขียนได้ทำการค้นคว้าในความควบคุมของศาสตราจารย์ แอร์เร็ตต์ ซี. ออลบริตตัน การบรรยายนี้ทำใน พ.ศ. 2472 ส่วนการค้นกว้าทำใน พ.ศ. 2471

     เมื่อสโมสรแพทย์ได้จัดให้มีการประชุมทางวิชาการแล้ว ไม่ได้ปล่อยให้เรื่องเหล่านั้นหายไปเฉย ๆ ได้จัดพิมพ์เรื่องต่าง ๆ เหล่านั้นขึ้นแจกจ่ายแก่สมาชิก เป็นราย 2 เดือนต่อฉบับ เล่ม 1 ฉบับที่ 1 ออกเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2472 ฉบับที่มีเรื่องของผู้เขียนปรากฏอยู่ใน เล่ม 1 ฉบับที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2473 หนังสือที่กล่าวนี้เรียกว่า “รายงานการประชุมสโมสรแพทย์” พิมพ์ออกแจกจ่ายทุกสองเดือนแล้วไปสะดุดหยุดลงเมื่อใดผู้เขียนไม่ทราบ การประชุมทางวิชาการนี้ไปเลิกเสียเมื่อใดก็ไม่ทราบอีกเหมือนกัน

     หนังสืออีกเล่มหนึ่งซึ่งสโมสรฯพิมพ์ออกจำหน่ายจ่ายแจกก่อนหน้านี้ได้แก่ “ข่าวแพทย์” เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2471 เป็นหนังสือที่สโมสรฯมีความมุ่งหมายที่จะเผยแพร่ความรู้ในทางโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ประชาชน จำหน่ายในราคาเล่มละ 25 สตางค์ ตีพิมพ์ออกเดือนละเล่ม ถ้ารับเป็นรายปีก็คิดปีละ 3 บาท หนังสือนี้ออกอยู่ได้จนถึง พ.ศ. 2485 จึงได้หยุดลง เพราะภัยแห่งสงคราม

     การจดทะเบียนของสโมสรแพทย์ฯตามหลักฐานของหนังสือสองเล่มไม่เหมือนกัน คือ อนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุขว่า 15 มีนาคม 2470 แต่หนังสืออนุสรณ์ของแพทยสมาคมว่า จดทะเบียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2470 เป็นเวลาห่างกันสามเดือน อาจเป็นด้วยผู้เขียนหนังสือสองเล่มนั้น ต่างก็จำได้ว่าเป็นเดือนสุดท้ายของปี คนหนึ่งคิดถึงปีเก่าอันมีเดือนมีนาคมเป็นเดือนสุดท้ายของปี ส่วนอีกคนหนึ่งนึกถึงปลายปีที่เราใช้กันเดี๋ยวนี้ คือมีเดือนธันวาคมเป็นเดือนสุดท้ายของปี หนังสืออนุสรณ์ของแพทยสมาคมฯกล่าวในตอนหนึ่งว่า “ในการประชุมใหญ่ครั้งแรกในวันที่ 1 เมษายน 2471 ณ ห้องประชุมของ ร.พ.ศิริราชพยาบาล มีสมาชิกเข้าประชุม 45 คน เก็บเงินค่าบำรุงได้ 308 บาท สำหรับเป็นต้นทุนเริ่มต้น…” เมื่อพิจารณาความข้อนี้แล้วทำให้คิดว่า สโมสรแพทย์ฯคงจดทะเบียนเมื่อ 15 มีนาคม 2470 เพราะในตอนนั้นสมาชิกต่างก็อยากจะมีสโมสรกันเหลือเกิน เมื่อจดทะเบียนได้แล้ว คงไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปตั้งสามเดือนจึงเรียกประชุม เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว จึงขอถือเอาวันที่ 15 มีนาคม 2470 เป็นวันจดทะเบียน

     เมื่อสโมสรแพทย์ฯจดทะเบียนแล้วได้ใช้โรงพยาบาลศิริราชเป็นสำนักงานชั่วคราว ดำเนินกิจการในทางวิชาการ ส่วนตัวสโมสร ซึ่งเป็นที่พบปะกันของสมาชิกยังไม่มี ในระยะนั้น กรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทยได้ก่อสร้าง สุขศาลาบางรัก เพื่อใช้เป็นที่รักษากามโรค สุขศาลานี้สร้างเป็นตึกสองชั้น ติดถนนสีลม ในเนื้อที่ของโรงพยาบาล หมอเฮส์ ซึ่งได้เลิกกิจการไปแล้ว หลังตัวสุขศาลาเข้าไปเป็นเรือนไม้หลังใหญ่ ใต้ถุนสูง เดิมใช้เป็นโรงพยาบาลของหมอเฮส์ กรมสาธารณสุขได้อนุญาตให้สโมสรแพทย์มาใช้เป็นสโมสรได้ ทั้งได้อนุญาตให้สร้างสนามเทนนิสในที่ดินที่อยู่ถัดเข้าไป สโมสรแพทย์ฯได้ลงทุนซ่อมแซมตกแต่งสถานที่ที่ได้รับอนุญาตนี้จนเป็นที่เรียบร้อย มีทั้งกีฬาในร่มและนอกร่มและมีเครื่องดื่มในราคาเยาด้วย สโมสรแพทย์จึงได้มีสโมสรจริง ๆ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2471 นอกจากแพทย์แล้ว ยังมีสมาชิกที่ไม่ใช่แพทย์ไปใช้สโมสรกันอย่างครึกครื้นอุ่นหนาฝาคั่งมาก ทั้งนี้น่าจะเนื่องจากว่าในขณะนั้นมีสโมสรไม่กี่แห่ง และที่สโมสรแพทย์นี้อยู่ใกล้กับสามแยกถนนสีลมต่อถนนเจริญกรุง การไปมาสะดวก มีทั้งรถรางและรถเมล์ มีข้าราชการจากหลายกระทรวงไปสมัครเป็นสมาชิก บางคนเป็นสมาชิกเพราะเพื่อแพทย์ชวนไป บางคนเป็นเพราะบ้านอยู่ใกล้ ๆ แถวนั้น สโมสรจึงรุ่งเรืองเฟื่องฟู

     ผู้เขียนเข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทย กรมสาธารณสุข เมื่อต้นปี (เมษายน) พ.ศ. 2474 มีชื่อเป็นแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลวชิระ แต่ตัวทำงานอยู่กองที่ปรึกษา ซึ่งมีห้องทำงานอยู่ที่ชั้นสอง ทางด้านหน้าของตึกกระทรวงมหาดไทย และอยู่ใกล้ ๆ ห้องอธิบดีและห้องผู้ช่วยอธิบดี ท่านที่ปรึกษาในเวลานั้นคือ ดร. ชไปโร ซึ่งเป็นผู้ที่มูลนิธิร็อคคีเฟลเลอร์ส่งมาช่วย ท่านที่ปรึกษาได้ให้ผู้เขียนไปดูงานและช่วยงานตามกองต่าง ๆ แล้วกลับมาเขียนรายงานให้ท่านทราบ เวลาท่านไปราชการหัวเมือง ท่านก็ให้ผู้เขียนติดตามไปด้วย แล้วท่านก็ให้ผู้เขียนไปดูตามที่ต่าง ๆ ตามที่ท่านต้องการ เมื่อกลับมาก็เขียนรายงานเสนอให้ท่านทราบ ครั้งสุดท้ายผู้เขียนไปอยู่กองโรคระบาด ขณะนั้นมีโรคบิดระบาดที่อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้เขียนก็ถูกส่งไปปราบโรคนั้น พอโรคเริ่มสงบก็ได้รับโทรเลขจากกรมให้กลับกรุงเทพฯ เมื่อมาถึง ท่านที่ปรึกษาก็สั่งให้ไปช่วยหลวงชาญวิธีเวชช์ (รุ่งขึ้นปี 2475 ท่านก็ได้เป็นพระชาญวิธีเวชช์) ที่สุขศาลาบางรัก

     ได้กล่าวไว้แล้วว่า สุขศาลาบางรักนั้นใช้เป็นที่รักษากามโรค แต่ใช้เฉพาะชั้นล่าง เท่านั้น ชั้นบนจึงยังคงว่างอยู่ ท่านที่ปรึกษามีความเห็นว่าควรจะใช้ที่ว่างนี้เป็นที่ทำการ “สุขาภิบาลตัวอย่างบางรัก” กรมสาธารณสุขมีความเห็นพ้องด้วย จึงได้เปิดทำการขึ้น มีเจ้าหน้าที่คือ หลวงชาญวิธีเวชช์เป็นหัวหน้า มีสารวัตรสุขาภิบาล 6 คน นางสงเคราะห์ (พยาบาล) สองคน เสมียนหนึ่งคนและภารโรงหนึ่งคน คุณหลวงชาญฯท่านมีงานทางกรมด้วย ทางกรมจึงได้ให้ผู้เขียนมาเป็นผู้ช่วย ต่อมาคุณหลวงชาญฯท่านเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระ และได้เป็นเหรัญญิกของสโมสรแพทย์ด้วย ท่านก็เลยให้ผู้เขียนช่วยทำงานทางการเงินของสโมสรแพทย์ด้วย ผู้เขียนจึงเข้าไปรู้เห็นกิจการของสมาคมแพทย์มากขึ้นและได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกด้วย ต่อมาเมื่อท่านพ้นตำแหน่งเหรัญญิก ผู้เขียนก็ได้รับเลือกเป็นเหรัญญิกแทนท่าน จะเป็นตั้งแต่ปีไหนและเป็นอยู่นานเท่าใดจำไม่ได้ จำได้แต่ว่าไม่ค่อยจะเป็นที่พอใจของสมาชิกบางท่านนัก เพราะถูกทวงถามค่าบำรุงที่ติดค้างอยู่ค่อนข้างบ่อย การเงินของสโมสรแพทย์ดีขึ้น มีสมาชิกใช้สโมสรมากขึ้นและหนี้สูญน้อยลง

 

 

© Copyright The Medical Association of Thailand. All rights Reserved 2002 - 2003
Acquista Cialis generico 5 mg Effetti collaterali del Cialis 5 mg Acquista Cialis 20mg online Prezzo di Cialis originale in Svizzera Acquista Viagra in Svizzera senza prescrizione Dove comprare Cialis 10mg Viagra in farmacia online effetti collaterali Costo di Cialis 5mg Opiniones de Reduslim Acquista Spedra Avanafil senza prescrizione Acquista Viagra in Svizzera senza prescrizione Comprar Cialis original Comprar Viagra Contrareembolso Cialis 5mg Viagra sin receta Cialis 5 mg efectos secundarios graves Reduslim precio Trastorno de la ereccin venta de tadalafilo avanafil prezzo cialis 20 mg prezzo cialis effetti benefici cialis 10 mg Reduslim Kaufen pulse crypto price prediction avanafil 100 mg prezzo